โครงการอุษาคเนย์ในการรับรู้และความเข้าใจของสังคมไทยร่วมสมัย
หัวหน้าโครงการ : อ.ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์
หน่วยงาน : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ระยะเวลาโครงการ : 1 เมษายน 2547 – 30 เมษายน 2549
งานวิจัยชุดนี้มุ่งเปิดประเด็นให้เห็นถึงเงื่อนไขปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังที่มาของการรับรู้และความเข้าใจที่คนไทยมีต่อประเทศในอุษาคเนย์ซึ่งเป็นประเทศเพื่อนบ้านของไทย ผลการวิจัยค้นพบว่า ความรับรู้และความเข้าใจที่คนไทยมีต่อประเทศรอบข้างมิได้เอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาไปสู่การสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันเพื่อความสมานฉันท์ในระดับประชาชนต่อประชาชน อันจะนำไปสู่การรังสรรค์เอกภาพที่ยั่งยืนของกลุ่มประเทศอาเซียนในอนาคต ลักษณะที่ไม่เอื้อประโยชน์ตามกล่าวนั้น ได้แก่ ข้อจำกัดในด้านความรู้เกี่ยวกับเพื่อนบ้านในมิติต่างๆ ซึ่งมีทั้งในด้านความถูกต้องและความทันสมัย แต่ที่สำคัญยิ่งไปกว่าคือ สาระส่วนใหญ่ยังจำกัดอยู่กับการสร้างภาพลักษณ์และทัศนคติที่เป็นปรปักษ์ หรือมิฉะนั้นก็สะท้อนทัศนะที่ดูถูกเหยียดหยามในด้านเชื้อชาติและวัฒนธรรม ที่น่าสนใจก็คือ การรับรู้และความเข้าใจที่เกิดขึ้นนั้น มิได้มาจากเจตนาที่ผู้สร้างมุ่งให้ร้ายประเทศรอบข้าง บนพื้นฐานความขัดแย้งทั้งในภาครัฐและประชาชน งานวิจัยยังค้นพบด้วยว่า กระบวนการสร้าง หล่อหลอม และพัฒนาทัศนคติต่อประเทศรอบข้างดังกล่าว เป็นไปเพื่อสนองตอบประโยชน์ของประเทศเป็นสำคัญ โดยเริ่มจากกระบวนการเขียนชีวประวัติของชาติเพื่อสถาปนารัฐชาติ ซึ่งกระทำควบคู่ไปกับการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อสร้างสำนึกชาตินิยมขึ้น การสร้างภาพประเทศรอบด้านในฐานะคู่ปรปักษ์ขึ้นในสำนึกและจินตนาการของคนไทยถือกำเนิดขึ้นภายใต้เงื่อนเช่นว่านี กระบวนการตามกล่าวเริ่มต้นจากกลุ่มผู้ปกครองประเทศ แต่ต่อมาภายหลังได้ถูกหลอมรวมอยู่ในกระแสสังคมระดับล่าง โดยเฉพาะในภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทที่สำคัญในการตอกย้ำและเผยแพร่ภาพลักษณ์ของเพื่อนบ้านที่ไม่สร้างสรรค์ผ่านสื่อประเภทต่างๆ โดยเฉพาะสื่อหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์
บทความวิจัยจากโครงการ
คำสำคัญ: อุษาคเนย์, การรับรู้, ความเข้าใจ, สังคมไทยร่วมสมัย