สร้างแผนที่จริยศาสตร์
หัวหน้าโครงการ : ผศ.ดร. ชาญณรงค์ บุญหนุน
หน่วยงาน : คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ที่มาและความสำคัญ
ไม่ว่ามนุษย์จะอยู่ในสังคมใด ก็ย่อมจะเผชิญกับข้อเรียกร้องทางศีลธรรม (Moral requirement) บางอย่างอยู่เสมอทั้งนี้ก็เพื่อประกันการมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขของมวลสมาชิก ประเทศไทยปัจจุบัน มีการรณรงค์เรียกร้องด้านคุณธรรมจริยธรรมกันมาก ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนแปลงตามสภาพเศรษฐกิจสังคมที่เปลี่ยนไป และอีกส่วนหนึ่งมาจากความขัดแย้งทางสังคมการเมืองอย่างเข้มข้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
ในปี พ.ศ. 2553 คุณธรรมจริยธรรมกลายเป็นวาระแห่งชาติ มีการทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อผลักดันกระบวนการที่ส่งเสริมหรือสนับสนุนให้เกิดสำนึกเชิงคุณธรรมจริยธรรมขึ้นมา เช่น การมีสมัชชาคุณธรรมเพื่อสร้างเครือข่ายด้านคุณธรรมในสังคมไทย มีการจัดโครงการสำคัญ เช่น ตลาดนัดคุณธรรม เป็นต้น มีข้อน่าสังเกตว่า คุณธรรมจริยธรรมที่ผลักดันให้เกิดขึ้นโดยการทุ่มเทงบประมาณมหาศาลนั้น เป็นคุณธรรมสำเร็จรูป คือกำหนดให้มีข้อปฏิบัติเชิงคุณธรรมหรือชุดคุณธรรมจำนวนหนึ่งแล้วเรียกร้องให้ปฏิบัติตามนั้น
การจะมี “คุณธรรมจริยธรรม” นั้น น่าจะมาจากการพัฒนาวุฒิภาวะทางศีลธรรม (Moral maturity) ของผู้คนพลเมือง ซึ่งน่าจะเริ่มจากการพัฒนาความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาที่ไปของคุณธรรมจริยธรรมโดยการศึกษาจากคลังสมบัติทางปัญญาของมนุษย์ โดยโครงการวิจัยนี้มุ่งศึกษาวิเคราะห์ประเด็นเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมจากแง่มุมของนักปรัชญาและศาสนา ซึ่งได้ศึกษาวิเคราะห์และพัฒนาข้อถกเถียงต่างๆ ที่น่าสนใจมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
การวิเคราะห์คุณธรรม-จริยธรรมในเชิงปรัชญา มีมิติที่ซับซ้อน ไม่เชื่อว่าคุณธรรมจริยธรรมเป็นเรื่องสำเร็จรูปที่ง่ายต่อการหยิบฉวยมาใช้ในทันที กล่าวคือ ในมิติหนึ่ง การมีจริยธรรมนั้นโดยตัวมันเองสัมพันธ์กับชีวิตปัจเจกบุคคลผู้ซึ่งต้องการจะมีชีวิตที่มีจริยธรรม เนื่องจากว่าเป้าหมายของการมีคุณธรรมจริยธรรมคือการแสวงหาชีวิตที่ดีหรือชีวิตที่มีความสุข วิธีการที่จะไปสู่เป้าหมายจึงอาจมีหลากหลายวิธี วิธีหนึ่งที่จำเป็นพร้อม ๆ กับการจัดปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคมภายนอก ได้แก่ การที่บุคคลหันไปพิจารณาหาความปรารถนาหรือตรวจสอบความรู้สึกสำนึกของตัวเอง แทนที่จะจัดการกับเงื่อนไขภายนอกอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของตนแต่เพียงด้านเดียว ก็หันกลับไปจัดการกับความปรารถนาภายใน โดยพัฒนาความสามารถในการเลือกตัดสินใจหรือความสามารถในการกำหนดตัวเองหรือควบคุมจากภายใน เช่น การมีสติเหนี่ยวรั้งเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตไปในแนวทางที่เหมาะสม การสามารถใช้เหตุผลอธิบายการกระทำของตนเองได้ การเรียกร้องให้ปฏิบัติต่อตนเองในลักษณะดังกล่าวนี้ปรากฏในประวัติภูมิปัญญาของมนุษยชาตินับแต่อดีตจนปัจจุบัน ทั้งในวัฒนธรรมตะวันตกและวัฒนธรรมตะวันออก
วัตถุประสงค์
บทความจากโครงการวิจัย
คำสำคัญ: จริยศาสตร์, คุณธรรม, การต่างตอบสนองทางศีลธรรม, ความกตัญญู, การยอมรับเคารพ, ความเป็นอื่น-คนอื่น, สโตอิค, ปอล ริเกอร์, เอมมานูเอล ลาวินาส, ปรัชญาขงจื่อ, พุทธศาสนา