ปริทรรศน์นักทฤษฎีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ร่วมสมัย
หัวหน้าโครงการ : นายวิศรุต พึ่งสุนทร
หน่วยงาน : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ชุดโครงการวิจัยนี้มุ่งสำรวจและศึกษานักคิดที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ ได้แก่ เทอร์รี อีเกิลตัน (Terry Eagleton), เฮย์เดน ไวต์ (Hayden White), อมาร์ตยา เซ็น (Amartya Sen), แอ็กเซล ฮอนเน็ต (Axel Honneth), ดอนนา ฮาราเวย์ (Donna Haraway), ฮองรี เลอแฟบร์ (Henri Lefebvre), อิเลน สแกร์รี (Elaine Scarry), มาร์ธา นุสบาม (Martha Nussbaum), กีย์ เดอบอร์ด (Guy Debord) และ กายาตรี จักรวรตี สปิวัก (Gayatri Chakravorty Spivak) โดยนักคิดเหล่านี้เป็นคนรุ่นที่เกิดในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 โดยสิ่งที่มีร่วมกันคือการรับอิทธิพลทางความคิดมาจากการเมืองฝ่ายซ้าย อีกทั้งยังเป็นนักคิดที่ได้รับอิทธิพลและส่งอิทธิพลข้ามสาขาวิชาและข้ามขนบความคิด ทำให้นักคิดที่ชุดโครงการนี้นำมาศึกษาวิจัยจึงมีความหลากหลายตามที่กล่าวมาข้างต้น ข้ามผ่านสาขาวิชาทั้งประวัติศาสตร์ วรรณคดี ปรัชญา เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะและสถาปัตยกรรม
ที่มาและความสำคัญ
ในการทำความเข้าใจธรรมชาติของปรากฏการณ์และสิ่งต่างๆ รวมถึงระเบียบวิธีในการวิเคราะห์หรือตีความ สิ่งที่เรียกว่า “ทฤษฎี” ไม่ว่าจะในรูปใด มีความสำคัญในการเป็นแนวทางในการวิจัยและช่วยจัดการความคิด ในวงวิชาการทางด้านมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ที่ได้มีการแบ่งสาขาและจัดแบ่งขอบเขตทางความรู้ออกจากกันผ่านการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยสมัยใหม่ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ทำให้แต่ละสาขาวิชาพัฒนาสิ่งที่เรียกว่าเป็นระเบียบวิธีและทฤษฏีเฉพาะเป็นของตนเอง หากแต่ในช่วงครึ่งหลังของคริสต์ศตวรรษที่ 20 การสร้างทฤษฎีในทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เข้มข้นอย่างมาก อีกทั้งมีการผสานกันข้ามสาขาและข้ามขนบความคิด อาจกล่าวได้ว่ามีการผสานข้าม 3 ขนบทางความคิดหลักๆได้แก่ ขนบคิดมาร์กซิสม์ ขนบทางสังคมวิทยาและขนบทางวรรณคดีวิจารณ์ เป็นช่วงเวลาที่โลกวิชาการให้ความสนใจต่องานวิชาการเชิงทฤษฎีข้ามสาขาเป็นอย่างมาก
หากกลับมามองในวงวิชาการด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในประเทศไทยช่วงเวลาดังกล่าวมีความสำคัญในการก่อร่างความรู้ระดับอุดมศึกษา การสถาปนาความรู้ในเชิงทฤษฎีมีส่วนสำคัญ โดยองค์กรหลักในการเผยแพร่ความรู้เชิงทฤษฏีทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ในโลกภาษาไทย ได้แก่โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2509 ในฐานะเป็นหน่วยงานหนึ่งของสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยที่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินจากสหรัฐอเมริกา ภายใต้การดูแลของป๋วย อึ้งภากรณ์ การตีพิมพ์บทความและหนังสือความรู้เชิงทฤษฎีจึงถือเป็นหมุดหมายสำคัญในการนำเข้าความรู้เชิงทฤษฎี เห็นได้ชัดว่าเป้าหมายหลักของโครงการคือเพื่อยกระดับความรู้ระดับอุดมศึกษาให้ทัดเทียมระดับสากล และเล็งเห็นถึงความสำคัญในการวางรากฐานของแนวคิดทฤษฎีและระเบียบวิธีให้มั่งคงในแต่ละสาขาวิชา ความรู้เชิงทฤษฎีในวงวิชาการไทยขณะนั้นจึงมีการแบ่งแยกตามสาขาวิชาอย่างค่อนข้างเคร่งครัด ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากวงวิชาการเชิงทฤษฎีในโลกตะวันตกที่มีแนวโน้มในการการข้ามสาขาวิชาและขนบความคิดมากขึ้น
อีกประการหนึ่งที่เป็นข้อถกเถียงในวงวิชาการอย่างต่อเนื่องเกี่ยวข้องกับการนำเข้าทฤษฎีจากต่างบริบท ใน Poverty of Theory (1978) เอ็ดเวิร์ด ทอมป์สัน (Edward P. Thompson) กล่าวถึงการนำเข้าทฤษฎีมาร์กซิสม์สำนักโครงสร้างนิยมมาสู่อังกฤษในทศวรรษที่ 1970 ว่าเปรียบเหมือนเป็นเหมือนฝูงตั๊กแตนที่ข้ามช่องแคบอังกฤษเข้ามากัดกินสิ่งต่างๆ ลดทอนให้เหลือเป็นเพียงโครงสร้างความสัมพันธ์มูลฐาน มองไม่เห็นส่วนประกอบอื่นๆ ที่ไม่เข้ากับกรอบทฤษฎี มองข้ามลักษณะเฉพาะเจาะจงของมิติของมนุษย์หรือลักษณะท้องถิ่นอื่นๆ ที่ทฤษฎีมิอาจอธิบายได้ รวมทั้งมองข้ามความแตกต่างของแขนงสาขาของความรู้ จนเหลือเป็นเป็นเพียงทฤษฎีมูลฐานทีไม่สนใจข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์มากพอ คำวิจารณ์ของทอมป์สันไม่เพียงแต่วิจารณ์การรับทฤษฎีมาร์กซิสม์ในอังกฤษ แต่ยังสะท้อนปัญหาเรื่องนำเข้าทฤษฎีมาจากต่างถิ่นในภาพกว้างอีกด้วย ว่าอาจมีอันตรายจากการขาดความเข้าใจบริบทเฉพาะ ความเฉพาะเจาะจงทางประวัติศาสตร์และมองข้ามความแตกต่างทางบริบททางวัฒนธรรมและความละเอียดอ่อนอื่นๆ เมื่อกล่าวถึงการรับเอาความรู้และนำทฤษฏีไปอภิปรายประเด็นปัญหาของสังคมร่วมสมัย
ในทศวรรษที่ 1990 ทฤษฎีซึ่งกลายเป็นส่วนสำคัญขององค์ความรู้ทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์จึงถูกนำมาพิเคราะห์อย่างระแวดระวังมากขึ้น บทบาทของแนวคิดทฤษฏียังคงมีความสำคัญทางวิชาการอย่างต่อเนื่องดังจะเห็นได้จากหลักสูตรของมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เห็นถึงความจำเป็นของการปูพื้นความรู้ทางทฤษฎี ในแง่นี้ การศึกษาทฤษฎีมีความซับซ้อนมากขึ้น ผู้ศึกษาจำเป็นต้องมีความเข้าใจในบริบทของการเกิด การดำรงอยู่ การส่งผ่าน และพลวัตต่างๆ ของทฤษฏีมากขึ้น เกิดการอภิปรายความแตกต่างระหว่างการวิจัยเชิงทฤษฎีกับการวิจัยเชิงประจักษ์อย่างเข้มข้นขึ้นในวงวิชาการปัจจุบัน อันนำไปสู่การตระหนักรู้ถึงความท้าทายและขีดจำกัดของการนำเข้าความรู้เชิงทฤษฎีผ่านกรอบที่แตกต่างกันของสาขาวิชา ขนบความคิดหรือบริบทอื่นๆ ความเข้าใจทฤษฎีที่มากไปกว่าการสรุปหลักคิดพื้นฐานจึงมีความจำเป็นต่อผู้อ่านในวงวิชาการไทย โดยเฉพาะการศึกษาการนำเข้าทฤษฎีที่มีลักษณะของการ “ข้าม” ในทุกด้าน ทั้งการข้ามสาขาวิชา การข้ามขนบความคิด การข้ามทางภูมิศาสตร์และการข้ามทางวัฒนธรรม รวมถึงการข้ามจากทฤษฎีในแง่ที่เป็นกรอบคิดไปสู่การทำความเข้าใจประเด็นปัญหาของสังคม
ชุดโครงการวิจัย “ปริทรรศน์นักทฤษฎีมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ร่วมสมัย” จึงเห็นความจำเป็นในการรวบรวมนักวิจัยที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสทฤษฎีที่เกิดขึ้นทั้งในวงการมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์เพื่อสร้างสรรค์บทความปริทรรศน์เพื่อให้ผู้อ่านภาษาไทยในวงกว้าง ได้รับรู้และเข้าใจหลักแนวคิดทฤษฎีของนักทฤษฎีร่วมสมัยที่มีอิทธิพลในทางวิชาการ ขณะเดียวกันก็ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของแนวคิด แรงผลักดัน บริบททางความคิด และอิทธิพลที่นักคิดผู้นั้นรับมาและอิทธิพลของนักคิดดังกล่าวที่มีต่อวงวิชาการ โดยเฉพาะวงวิชาการไทย อีกทั้งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของข้อเขียนแต่ละชิ้นที่สำคัญและควรค่าแก่การศึกษาต่อไป กล่าวโดยสรุปได้ว่าจุดประสงค์หนึ่งของโครงการนี้คือการชี้ให้เห็นว่าไม่มีชุดความคิดใดๆ ที่เกิดมา ดำรงอยู่และส่งอิทธิพลได้ในตัวของมันเอง แต่เป็นผลจากบริบททางความคิด ทางสังคมและทางวัฒนธรรม บทความปริทรรศน์ในโครงการนี้จึงนับเป็นงานวิจัยที่มีมิติของการสร้างองค์ความรู้ใหม่ โดยเฉพาะองค์ความรู้ทางด้านทฤษฎีในประเทศไทยซึ่งยังมีผู้วิจัยอยู่ไม่มากนัก
วัตถุประสงค์
บทความที่นำเสนอในงาน
บทความวิจัย
บทสังเคราะห์ สำรวจรอยแยกทางอุดมการณ์ในทฤษฎีวิพากษ์ในศตวรรษที่ 21 โดย รองศาสตราจารย์ ดร.วิศรุต พึ่งสุนทร คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำสำคัญ: นักทฤษฎี, นักคิด, มนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์, แนวคิดข้ามศาสตร์