Thai Humanities Forum

ถกเถียงเรื่องคุณค่า 1

|Thai Humanities Forum|

ถกเถียงเรื่องคุณค่า 1

หัวหน้าโครงการ : รศ.ดร. ปกรณ์ ลิมปนุสรณ์ 

หน่วยงาน : คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความขัดแย้งและความรุนแรงในสังคมไทยช่วงทศวรรษที่ผ่านมาได้เผยให้เห็นคำถามพื้นฐานหลายประเด็นที่ยังรอคำตอบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมิติสังคม วัฒนธรรม การเมือง  คำถามเหล่านี้เป็นพื้นฐานการทำความเข้าใจตนเองของสังคมไทยในยุคที่การเปลี่ยนผ่านมีความเข้มข้นและรวดเร็ว อีกทั้งยังเชื่อมโยงสู่การตัดสินใจเกี่ยวกับความหมายและบทบาทของสังคมไทยในระดับภูมิภาคและระดับโลก

เมื่อพิจารณาจากมุมมองทางมนุษยศาสตร์ มีประเด็นหนึ่งซึ่งดำรงอยู่ ณ ใจกลางของความแตกต่างขัดแย้งอันซับซ้อน แต่กลับไม่ค่อยมีงานวิจัยที่เสนอข้อถกเถียงให้เห็นเด่นชัดขึ้น ได้แก่ ประเด็นความแตกต่างเชิงคุณค่า  บ่อยครั้งความขัดแย้งแตกต่างอันเป็นธรรมดาของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ถูกทำให้เป็นความขัดแย้งรุนแรงโดยถูกครอบงำด้วยการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ ทั้งๆ ที่ดูเหมือนว่าหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้เปิดใจ “ฟัง” “เหตุผล” ของคู่ตรงข้าม  “ความเป็นคู่ตรงข้าม” ก็ดูจะเพียงพอแล้วที่จะสรุปว่าอีกฝ่ายหนึ่งผิด โง่ ไม่รู้ข้อเท็จจริง ใช้อารมณ์ ไม่ใช้เหตุผล  ปัญหามีอยู่ว่าทั้งสองฝ่ายใช้วลีชุดเดียวกันในการกล่าวถึงฝ่ายตรงข้าม

ที่จริงแล้วสังคมไทยและสังคมต่างๆ ในโลกได้สะสมกระบวนวิธีถกเถียงเรื่องความแตกต่างเชิงคุณค่าไว้มากมายในรูปแบบวรรณกรรม ปรัชญานิพนธ์ ศาสนธรรม ข้อเขียนทางประวัติศาสตร์ ที่รุ่มรวยด้วยบทเรียนเกี่ยวกับวิธีถกเถียงเรื่องคุณค่าที่น่าจะนำมาศึกษา วิจัย วิเคราะห์ เพื่อพัฒนาภาษาและทักษะการถกเถียงเรื่องความแตกต่างเชิงคุณค่าโดยไม่เสื่อมสลายกลายเป็นความขัดแย้งรุนแรงได้โดยง่ายอย่างที่เป็นอยู่

วัตถุประสงค์

  1. ศึกษา วิเคราะห์ วิธีถกเถียงเรื่องคุณค่าที่ปรากฏในงานวรรณกรรม ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และศาสนา ตามประเด็นที่คัดสรร
  2. พัฒนา “คู่มือถกเถียงเรื่องคุณค่า” ฉบับสาธารณชน

กิจกรรมในโครงการ

  • การประชุมเผยแพร่ผลงานวิจัยหัวข้อ “ถกเรื่องคุณ เถียงเรื่องค่า” ชุดโครงการ เวทีวิจัยมนุษยศาสตร์ไทย” วันเสาร์ที่ 13 กันยายน 2557 เวลา 9.00-18.30 น. ณ ห้อง LA 108 ตึกคณะศิลปศาสตร์
  • การจัดทำ “คู่มือการถกเถียงเรื่องคุณค่า” ฉบับสาธารณชน

บทความที่นำเสนอ

  • จาก ฆ่า หรือ ไม่ฆ่า สู่คุณค่าในรามเกียรติ์ฉบับรัชกาลที่ 1
  • ปมอิดิปัสและประกาศิตของพ่อ ใน ข้างหลังภาพ กับ ชั่วฟ้าดินสลาย
  • ความเป็นชายและฮิปปี้ปลอดการเมืองใน พันธุ์หมาบ้า ของชาติ กอบจิตติ
  • “‘โป๊’…หมายถึงแค่ไหน?”: การก่อตัวของแนวคิดและการถกเถียงเรื่อง “ลามกอนาจาร” (ทศวรรษ 2460-2490)
  • มนุษย์นิยมหรือวัตถุนิยม: วิวาทะคุณค่าและการมีชีวิตของมนุษย์ของเฟอร์รีและก็องสปงวิลล์
  • ถกเถียงกับขงจื่อ: วิญญูชน และการต่อรองคุณค่าของไจ๋หว่อ
  • จิตไม่อาสาในปรัชญาของจวงจื่อ
  • วิถีโลก-วิถีโพธิสัตว์/ พุทธศาสนา-มิจฉาวาทะ: ถกเถียงเรื่องคุณค่า ในทศชาติชาดก
  • Renunciation and the power of silence in Temiya Jātaka 
  • ศัตรูที่รัก:คุณค่าสงครามกับสงครามคุณค่าใน คู่กรรม ของทมยันตี
  • โบราณคดีแห่งประวัติศาสตร์, ศาสนาของเผ่าพันธุ์ และหนทางสู่ความชอบธรรมของชาติ: ไมเคิล อ่าวทวิน นักวิชาการผู้ปกป้องอัตลักษณ์แบบต่อต้านอาณานิคมของเมียนมาร์
  • จุดยืนที่แตกต่างกับการคลี่คลายปมความขัดแย้ง: การศึกษาวรรณกรรมเวียดนามยุคหลังการรวมชาติ

คำสำคัญ: คุณค่า, อัตลักษณ์, ความขัดแย้ง, มนุษย์นิยม, วัตถุนิยม, ปิตาธิปไตย, ความเงียบในฐานะการถกเถียง