Thai Humanities Forum

รามเกียรติ์ : ก้าวหน้าจากรากแก้ว

|Thai Humanities Forum|

รามเกียรติ์ : ก้าวหน้าจากรากแก้ว

หัวหน้าโครงการ : นายดังกมล ณ ป้อมเพชร 

หน่วยงาน : คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

“รามายณะ” ปกรณัมปรัมปราของฮินดูซึ่งเป็นต้นกำเนิดของเรื่อง“รามเกียรติ์” สำนวนต่าง ๆ ของชุมชนในภูมิภาคเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียตะวันออก รวมถึงวรรณคดีประจำชาติของไทยด้วย มีแก่นเรื่องหลักที่รู้กันโดยสากลว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างธรรมะกับอธรรม ที่แม้ว่าฝ่ายอธรรมจะมีฤทธิ์เดชและทรงพละกำลังมหาศาล ฝายธรรมะซึ่งดูเหมือนจะมีพละกำลังอ่อนด้อยกว่าก็สามารถเป็นผู้ชนะได้ในที่สุด  เรื่องราว “การเดินทางของพระราม” นี้ได้รับการตีความและเล่าใหม่เพื่อวัตถุประสงค์ทั้งในเชิงศาสนา ปรัชญา การเมือง การปกครอง การสร้างสรรค์ศิลปะ  การเยียวยาบำบัด ความบันเทิง และการพาณิชย์  ในรูปของบทเพลงเล่าเรื่องแบบพื้นเมือง มหรสพการแสดง นวนิยายร่วมสมัย ละครโทรทัศน์และภาพยนตร์ ไปจนถึงการ์ตูนภาพและเกมคอมพิวเตอร์ล้ำยุค   มีการนำไปเป็นตัวอย่างอ้างอิงในฐานะที่เป็นหลักธรรมและคติในการดำรงชีวิต  เป็นตำราการปกครอง การบริหาร และการสงคราม   ตัวละครหลักอย่างพระราม นางสีดา ทศกัณฐ์ หนุมาน ฯลฯ ได้รับการวิเคราะห์ศึกษาและนำเสนอในมุมมองต่างๆ เพื่อสะท้อนและเชื่อมโยงกับชุมชนและสังคมร่วมสมัยในช่วงเวลานั้นๆ  

โครงการนี้ต้องการใช้ศิลปะของการละครเล่าเรื่อง “รามเกียรติ์” เป็นเครื่องมือสะท้อนและทำความเข้าใจกับปัญหาทางจริยธรรมในสังคมไทยร่วมสมัย โครงการนี้เชื่อมโยงวรรณคดีโบราณกับสังคมไทยร่วมสมัย เชื่อมโยงศาสตร์แห่งการสร้างสรรค์สาขาศิลปะการละครกับสหสาขา อันได้แก่ วรรณคดี คติชนวิทยา ทฤษฎีวิพากษ์ ดนตรี นาฏศิลป์ ปรัชญา ศาสนา จิตวิทยา สังคมศาสตร์ นิติศาสตร์ และการจัดการความขัดแย้ง เป็นการต่อยอดงานวิจัยสายมนุษยศาสตร์สาขาการละคร   และเป็นพิมพ์เขียวของการใช้ศิลปะการละครเป็นเครื่องมือในการทำความเข้าใจตนเองและผู้อื่นของสังคมไทย ซึ่งอาจนำไปสู่การเสริมสร้างวุฒิภาวะทางปัญญาและอารมณ์ของพลเมืองไทยต่อไปในอนาคต

วัตถุประสงค์

  1. ใช้กระบวนการทดลองสร้างสรรค์งานศิลปะการละครร่วมสมัยสี่เรื่อง คือ ลังกาสิบโห หนังใหญ่ร่วมสมัยวัดบ้านดอน นางร้ายในลงกา และราพณาสูร เป็นเครื่องมือในการแสวงหาคำตอบของโจทย์ร่วม สองประการของโครงการวิจัย คือ
    – แนวคิดเชิงจริยธรรมของสังคมไทยในอดีต ที่ปรากฏในการนำเสนอเรื่อง “รามเกียรติ์” ตามแบบประเพณีนั้น มีประเด็นใดบ้างที่ยังคงมีความหมายและมีความสำคัญกับมโนทัศน์เชิงจริยธรรมของคนไทยร่วมสมัย ประเด็นใดยังมีความหมายคงเดิม ประเด็นใดที่เปลี่ยนแปลง หรือถูกบิดผันไป และประเด็นใดที่เสื่อมความหมายและคลายความสำคัญลงไปเสียแล้วในปัจจุบัน
    แนวทางสำหรับงานศิลปะการละครเพื่อสื่อสารประเด็นจริยธรรมกับผู้ชมและสังคมไทยร่วมสมัยได้อย่างสัมฤทธิ์ผล
  2. สร้างสรรค์บทและการแสดงร่วมสมัย 4 เรื่อง คือ ลังกาสิบโห หนังใหญ่ร่วมสมัยวัดบ้านดอน นางร้ายในลงกา และราพณาสูร
  3. เขียนบทความวิจัย 4 ชิ้น เพื่อนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติและเทศกาลละครร่วมสมัยไทยอาเซียน Thai/ASEAN Contemporary Theater : Our Roots Right Now 19-26 มกราคม 2556  คือ
  • ลังกาสิบโห : การพัฒนาความดี ผ่านศิลปะการละครร่วมสมัยในชุมชนไทลื้อ [Lanka Sibho : Developing Goodness Through the Arts of Contemporary Theater in Tai Lue Community] 
  • หนังใหญ่ร่วมสมัยวัดบ้านดอน : อัตลักษณ์ที่ภาคภูมิและยั่งยืน [Wat Ban Don Contemporary Shadow Puppet Play : Strengthening Its Self-Respect & Sustainable Identity]  
  • นางร้ายในลงกา : ความเป็นหญิงกับความกำกวมทางจริยธรรม [Femmes Fatales in Lanka : Femininity and Moral  Ambiguity]  
  • ราพณาสูร : บทละครเล่าย้อนความขัดแย้ง [Ravanasura : Replay the 
  • ‘Rashomon Effects’ & Revise Our Conflicts] 

คำสำคัญ: รามเกียรติ์,  รามายณะ,  ละครเวทีไทย,  บทละคร,  ลังกาสิบโห,  หนังใหญ่วัดบ้านดอน,  นางเอก,  นางร้าย,  พระราม,  ทศกัณฐ์,  ราพณาสูร, นางสีดา, มณโฑ, เบญกาย,  สุวรรณกันยุมา,  คติชน,  ละครร่วมสมัย,  ละครชุมชน,  ละครประยุกต์,   ละครเยาวชน,  ละครหลังสมัยใหม่, การตีความใหม่,  การรื้อสร้าง,  ความขัดแย้ง, ความรุนแรง,  ความยุติธรรม,  จริยธรรม